ตั้งเป้านักศึกษาไทยรู้ ๓ ภาษาแข่งขันได้ในอาเซียน
ราชภัฏสุราษฎร์ธานีตั้งเป้าพัฒนานักศึกษา เรียนรู้ ๓ ภาษา ไทย อังกฤษ และภาษาที่ ๓ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีผลในปลายปี ๒๕๕๘
นายณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า คณะวิทยาการจัดการได้ทำการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของคณะก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และพบว่าจุดอ่อนของนักศึกษาในคณะวิทยาการจัดการคือทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาที่ ๓ ดังนั้นจึงได้ดำเนินยุทธศาสตร์เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งด้วยการพัฒนาภาษาอังกฤษและภาษาที่ ๓ เพื่อเชื่อมโยงกับการมีงานทำของนักศึกษาหลังสำเร็จการศึกษาในอนาคต
ในการดำเนินการ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า คณะได้เชิญประชุมผู้ใช้บัณฑิตทั่วจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง โดยผู้ใช้บัณฑิตระบุความต้องการที่ตรงกับยุทธศาสตร์ของคณะ คือต้องการบัณฑิตที่มีทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีหรือสามารถพูดภาษาที่ ๓ ได้ เนื่องจากต้องขยายธุรกิจรองรับการมาถึงของประชาคมอาเซียน ซึ่งปณิธานของคณะวิทยาการจัดการในขณะนี้ คือ นักศึกษาต้องสามารถพูดได้ ๓ ภาษา กล่าวคือ นอกจากภาษาแม่คือภาษาไทยแล้ว ต้องสามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ ๒ ได้ ส่วนภาษาที่ ๓ นั้น สามารถเลือกเรียนได้ตามความสมัครใจของนักศึกษา
ปัจจุบันคณะวิทยาการจัดการมีนักศึกษาประมาณ ๔,๕๐๐ คน มีนักศึกษาเลือกเรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่ ๓ จำนวน ๓,๐๐๐ คน เลือกเรียนภาษาพม่าและภาษาบาฮาซามลายูอย่างละ ๗๕๐ คน คณะได้จัดสอนภาษาเหล่านี้ให้กับนักศึกษาทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นให้กับบัณฑิตคณะวิทยาการจัดการ และ ผู้ปกครองทุกคนต่างเห็นด้วยกับโครงการนี้และพร้อมให้การสนับสนุน โดยวางเป้าหมายจะบรรลุปณิธานนี้ให้ได้ภายในเวลา ๓ ปี
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า แนวคิดของโครงการ วจก. ๓ ภาษา มาจากรหัส ๓ ตัว คือ ๖๐, ๖๐๐ และ ๖,๐๐๐ โดย ๖๐ หมายถึง ๖๐ ล้านคน จำนวนประชากรในประเทศไทยโดยประมาณ ๖๐๐ หมายถึง ๖๐๐ ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรประชาคมอาเซียน และ ๖๐๐๐ หมายถึง ๖,๐๐๐ ล้านคน จำนวนประชากรโลก เพราะทุกวันนี้สถาบันการศึกษามิได้ผลิตบัณฑิตเพื่อการเป็นพลเมืองคุณภาพของประเทศไทยหรืออาเซียนเท่านั้น แต่เราผลิตคนเพื่อการเป็นพลเมืองโลก