ภาคประชาสังคมกับคุณภาพสังคมไทย
สมัชชาประชาสังคมเดินหน้าขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนา ยกต่างประเทศรัฐ-สังคมต่างร่วมกันหนุนเสริม ไม่มองเป็นภัย สร้างความรำคาญให้รัฐ ขณะที่ผู้นำประเทศยอมรับการทำงานช่วยเตือนภัยป้องกันการลุอำนาจ ด้านนักวิชาการหนุนทำงานคู่ขนานประชารัฐ–ประชาสังคม จี้รัฐบาลเปิดกว้างผนึกแนวทางการทำงานประชารัฐหลากหลายกลุ่ม ลบข้อครหาทุนนิยมผูกขาดรูปแบบใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ เวทีสมัชชาประชาสังคม ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด “ภาคประชาสังคมกับคุณภาพสังคมไทย” จัดโดย เครือข่ายขับเคลื่อนส่งเสริมและพัฒนาสังคม ภายในงานมีการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนขับเคลื่อนงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้มีการจัดนิทรรศการ ซุ้มกิจกรรมด้านสังคม และร่วมเรียนรู้กับพื้นที่ตลาดที่มีชีวิตพร้อมเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์จากภาคประชาสังคมในบริเวณงานตลอดทั้ง 2 วัน
ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวในเวทีเสวนาบทบาทภาคประชาสังคมกับการร่วมสร้างสรรค์สังคมไทย ว่า ประชาสังคมมีมากมายหลายรูปแบบโดยส่วนใหญ่มีจุดเด่น คือ 1.ไม่ใช่องค์กรรัฐ มีจุดยืนที่ต้องการความเป็นธรรมทางสังคม ไม่ใช่มีเพียงให้รัฐและทุนเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ 2.เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันในเรื่องนโยบาย แผนพัฒนาโครงการรัฐต่างๆ ภายใต้ทฤษฎีที่เน้นแบบคุณธรรมมากกว่าทุนนิยม ซึ่งกระทบกับคนที่ไร้อำนาจ3.มีพัฒนาการจากการใช้แค่ประสบการณ์ ความคิด มาเป็นการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มากขึ้น มีหลักฐาน และมีการวิเคราะห์มากขึ้น 4.เสนอทางเลือกหรือหาทางเลือกให้กับสังคมในทางที่ดี ให้ประชาชนซึ่งไร้อำนาจจะได้มีโอกาสอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์
“ขณะที่จุดอ่อนของประชาสังคมเอง ที่ต้องพิจารณาก็มีวัฒนธรรมแตกต่างทางความคิดในการทำงาน ซึ่งไม่บรรลุเป้าสำคัญ ขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อมระหว่างกฎหมายนโยบายผลกระทบกับพื้นที่ อย่างมีระบบทำให้ไม่เคลื่อนไหวไปได้แบบทรงพลัง ซึ่งการทำงานฐานล่างกับเคลื่อนไหวไปกับนโยบายที่เป็นระบบที่มีพลังมากพอเป็นโจทย์ใหญ่มากที่จะต้องเรียนรู้ร่วมกันในอนาคต ขณะเดียวกัน จุดอ่อนสำคัญก็ยังมีเรื่องของประชาสังคมของแท้ ของเทียม ที่เข้ามาทำงานเพื่อผลประโยชน์ หรือพัวพันกับผลประโยชน์ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนอุดมการณ์ ขณะนี้มีเรื่องของประชารัฐเข้ามา ความจริงแล้ว ประชารัฐไม่ใช่คำใหม่ แต่มันบรรจุอยู่ตั้งแต่แผนพัฒนาที่ 8 แต่เป็นลักษณะ ประชารัฐซึ่งมาถึงยุคนี้ ในบทบาทของประชาสังคมจะเข้าไปทำงานเพิ่มได้หรือไม่อย่างไร หรือมีความแตกต่างกันอะไรบ้าง” นายสมพันธ์ กล่าว
ขณะที่ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของประชาสังคมคือ การแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช้รัฐและกลไกตลาดหรือทุน นั้นคือ ไม่ใช้ตลาดหรืออำนาจรัฐเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นการจัดการแก้ปัญหาแนวคิดใหม่ เช่น ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ จะเห็นว่าใช้ยุทธศาสตร์ประชาสังคมเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาเป็นส่วนใหญ่ไม่ใช่ใช้อำนาจรัฐเข้าไป โดยประชาสังคมเข้าไปช่วยเหลือมีการเชื่อมโยง พึ่งพากัน ทั้งข้อมูล ความสัมพันธ์ กับผู้คนในสังคมซึ่งถือเป็นการหาวิธีการเข้าไปแก้ปัญหาของสังคมโดยไม่ใช้อำนาจรัฐและเรื่องเงิน
ดร.เดชรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนจะทำงานคู่ขนานกันไปได้หรือไม่ ระหว่างประชาสังคม กับประชารัฐ นั้นขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่า ประชารัฐเอง ก็ไม่มีความชัดเจนว่านอกเหนือจากกลุ่มทุนที่เปิดตัว ว่ายังจะมีกลุ่มอื่นๆ เข้าไปทำงานด้วยได้อีกหรือไม่ หรือแม้กระทั่งกลุ่มประชาสังคม จะมีพื้นที่ให้เข้าไปทำงานด้วยหรือไม่ในจังหวัดต่างๆ เพราะโดยวิธีการทำงานก็ต่างกันแล้ว
“ผมคิดว่าประชารัฐต้องมีความชัดเจนในการเปิดกว้าง มากขึ้น ว่าใครทำอะไร แบบไหน ถ้าคนอื่นๆ หรือกลุ่มอื่นๆ ที่เขาอยากทำหรือเข้าร่วมประชารัฐ จะทำแบบไหน แบบเดียวกับประชารัฐจังหวัด จะเข้าไปได้แบบไหน หรือ ขณะนี้ถ้ามีเอกชนรายอื่น เรื่องอื่น เข้าอยากเข้าร่วม จะมีช่องทางหรือเปิดโอกาสให้เข้าร่วมกับประชารัฐได้หรือไม่ ต้องชัดเจน เปิดกว้างว่าอะไรทำได้ ซึ่งขณะนี้เราไม่รู้เรื่องกลไก ว่าเอกชนรายไหนจะเข้ามาใช้รูปแบบประชารัฐได้บ้าง ซึ่งไม่อยากให้เป็นเฉพาะตน ซึ่งนั้นคือความแตกต่าง กับประชาสังคม ซึ่งเน้นการเปิดกว้าง ใช้พลังทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ผมคิดว่า รัฐบาลต้องรีบตอบคำถามโดยด่วนในเรื่องของการเปิดกว้าง มิเช่นนั้นประชารัฐก็จะไม่หายความคลางแคลงใจกันในเรื่องทุนนิยมผูกขาดรูปแบบใหม่ หรือเปล่าที่เอกชนเหล่านั้นเข้ามา ซึ่งต้องจับตาดูประชารัฐต่อไป” ดร.เดชรัตน์ กล่าว
ด้านนายมณเฑียร บุญตัน กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า หลายประเทศที่ประชาสังคมเข้มแข็งเช่นใน เกาหลีใต้ ยุโรป โดยเฉพาะในประเทศยุโรปกลุ่มสแกนดิเนเวีย ขณะทีประเทศสหรัฐเอง ก็มีบทบาทประชาสังคมที่สำคัญ แต่เป็นในลักษณะตรวจสอบ และถ่วงดุล มากกว่าการมีส่วนร่วมในกิจการของรัฐ ส่วนในประเทศกลุ่มยุโรป จะเน้นการมีส่วนร่วมของโดยรัฐเป็นหลักโดยเป็นตัวหนุนเสริมซึ่งรัฐกับสังคมไม่ได้แยกกันโดยเด็ดขาด ผู้ที่มีอำนาจรัฐเขาเข้าใจ บทบาทการทำหน้าที่ของประชาสังคม และเห็นประโยชน์
“ผู้มีอำนาจรัฐเขามองเห็นผลดี ต่อการทำงานและบางทีเหมือนเป็นเกราะป้องกันให้เขา ขณะเดียวกันก็เป็นการเตือนภัย หรือแนวทางไม่ให้ลุแก่อำนาจ เตือนให้คำนึงถึง ความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และเห็นว่าประชาสังคมช่วยในการส่งเสริมการทำงาน มิใช่มองเห็นประชาสังคมขัดหูขัดตา ต่อภาครัฐหรือเป็นภัย ซึ่งไม่ได้มีแนวคิด ผู้ปกครองกับ ประชาชนคือผู้อยู่ภายใต้การปกครอง แต่ประชาสังคมคือ การแสดงพลังของการมีส่วนร่วมการทำงานร่วมกับภาครัฐมากกว่า”
นายมณเฑียร กล่าวต่อว่า วัฒนธรรมการบริหารของประเทศแบบ การมีส่วนร่วม หรือ อยู่ภายใต้การปกครอง เป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนเสริมการทำงานของประชาสังคม ของผู้มีอำนาจรัฐหรือรัฐบาลนั้นๆ เพราะการเปิดกว้าง ให้เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลและช่วยในการแบ่งเบาภาระ ซึ่งทำให้รัฐมีเวลาที่จะทำยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ หรือจัดบทบาทหน้าที่ให้สมดุลมากขึ้นในการทำงานให้ประชาชนเมื่อเปิดช่องให้ประชาสังคมเข้ามาทำงาน เนื่องจากประชาสังคมมีความยืดหยุ่นกว่ารัฐ การทำงานคล่องตัวกว่า
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 2 กรกฏาคม 2559