พม.จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสื่อสารแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 สู่การปฏิบัติ เพื่อมุ่งเน้นให้คนพิการเข้าถึงสิทธิที่ได้จริง
วันที่ 1 พ.ค. 60 ที่โรงแรมปริ๊นช์ พาเลช มหานาค กรุงเทพฯ : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดประชุมสื่อสารแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 - 2564 สู่การปฏิบัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารทิศทางยุทธศาสตร์และสาระสำคัญของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 อนุมัติในหลักการของการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 - 2564 โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการดำเนินการตามแนวทางและมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำเสนอแผนฯ ให้คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบสำหรับเตรียมการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลแผนฯ ซึ่งมีตนเป็นประธาน พร้อมด้วยส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ มีหน้าที่จัดทำ และขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ สื่อสารแผนไปสู่การปฏิบัติ และติดตามการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฉบับนี้ มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นให้คนพิการเข้าถึงสิทธิที่ได้จริง ดำรงชีวิตอิสระในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยต้องบูรณาการความร่วมมือที่มีพลังของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบกลไกประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม (EQUAL) ทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) Empowerment : เสริมพลังคนพิการและองค์กรด้านคนพิการให้มีศักยภาพและความเข้มแข็ง 2) Quality Management : พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง 3) Understanding : เสริมสร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ 4) Accessibility : สร้างสภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ และ 5) Linkage : ส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน
“ในนามของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตนขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรด้านคนพิการ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 - 2564 สู่การปฏิบัติ ตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะนำไปสู่ประโยชน์สุขของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย