ประเทศไทย นำร่องหน่วยงานราชการ 20 กระทรวงประกาศเจตนารมณ์ "แนวทางการลดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟม" เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก
ประเทศไทย นำร่องหน่วยงานราชการ 20 กระทรวงประกาศเจตนารมณ์ "แนวทางการลดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟม" เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก พร้อม รณรงค์ให้ประชาชนทุกคนลดใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกแก้ปัญหาขยะตกค้างในประเทศ
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2561 ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี โดยปีนี้ใช้แนวคิด “Beat Plastic Pollution” ภายใต้คำขวัญ “If you can’t reuse it, refuse it” หรือ “รักษ์โลก เลิกพลาสติก” เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเลส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลอย่างมาก เนื่องจากย่อยยากและจากชิ้นใหญ่กลายเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า “ไมโครพลาสติก" ถือเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนและสังคมเกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งร่วมกับหน่วยงานราชการ 20 กระทรวงนำร่องประกาศเจตนารมณ์ "แนวทางการลดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟม" หลังพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ช้อม ส้อม แก้วน้ำพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกหูหิ้วคนไทยใช้มากถึง 45,000 ล้านชิ้นต่อปี ด้วยการเดินหน้ามาตรการลดการใช้ถุงหูหิ้วในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการเกิดปัญหาขยะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีการบริโภคมากขึ้น ส่งผลให้มีขยะเหลือทิ้งในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน ประกอบกับโลกพัฒนาขึ้นประชากรโลกเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นมาก ปัจจุบันโลกต้องจัดการขยะที่สร้างขึ้นประมาณ 1.3 พันล้านตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านตันต่อปี ภายในปี 2025 แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการผลิตขยะเฉลี่ยคนละ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เพิ่มเป็น 1.42 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ภายในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอัตราการผลิตขยะจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วงระยะเวลาอีก 20 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับประเทศไทยที่การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลให้ปัญหาขยะกลายเป็นวาระแห่งชาติ เพราะมีแนวโน้มว่าสัดส่วนประชากรในเขตเมือง(เทศบาล) ของไทยจะเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ภายในปี 2573 โดยไทยมีระบบเก็บรวบรวมปริมาณขยะทั่วประเทศเป็นระบบมากขึ้นหลังได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ส่งผลให้ช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2559 มีแนวโน้มการนำเอาขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ดีขึ้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21 และมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต แต่ในภาพรวมไทยยังคงมีอัตราการผลิตขยะเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดในอาเซียน 1.76 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 1.19 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน หรือวันละ 56 พันตัน ภายในปี 2025 ที่ผ่านมารัฐบาลได้รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลดการใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นจากพลาสติก เนื่องจากเป็นขยะตกค้างที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น การใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าเท่าที่จำเป็น กระตุ้นให้ผู้ซื้อสินค้านำถุงผ้ามาใส่สินค้าเอง และการให้ส่วนลดราคาสินค้ากรณีที่ลูกค้าไม่ใช้ถุงพลาสติก
ด้านนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า จากการสำรวจในปี 2559 มีการจัดการปัญหาขยะตกค้างที่กระจายอยู่ในเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีจังหวัดที่ไม่เกิดปัญหาขยะตกค้าง 5 พื้นที่ คือกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี อ่างทอง และสมุทรสงคราม ขณะที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีขยะมูลฝอยมากที่สุดประมาณ 1.2 ล้านตัน รองลงมาเป็นนครศรีธรรมราช ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ สาเหตุมาจากปริมาณขยะมูลฝอยไม่ได้รับการบริการเก็บขน ปริมาณขยะมูลฝอยนำไปกำจัดแบบไม่ถูกต้อง และปริมาณขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้อง แต่ถือว่ามีปริมาณขยะตกค้างลดลงเกือบร้อยละ 5 หรือประมาณ 9.96 ล้านตัน