ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สพป.เขต 1 ราชบุรี นำร่อง จัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 แบบ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

วันที่ลงข่าว: 13/05/24

          เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พ.ค. ที่ห้องประชุมปักษาสวรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 โดย ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผอ.สพป.เขต 1 ราชบุรี ดร.สิทธิพล พหลทัพ ผอ.สพม.ราชบุรี ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประยูร สุธาบูรณ์ ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล คุณผลิพร ธัญญอนันต์ผล ผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ คณะครูจากโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 และโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี ร่วมประชุมวิพากษ์ร่างคู่มือเพื่อขับเคลื่อนพัฒนา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ไร้รอยต่อ ภายใต้โครงการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

          ดร.บรรเจิด กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันเด็กไทยยังขาดโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา สะท้อนได้ จากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่ในระดับสูง เด็กได้เข้าเรียนไม่ครบทุกคน มีปัญหาการออกกลางคัน ผู้เรียนที่มีความต้องการเป็นพิเศษ ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ความแตกต่างในเชิงคุณภาพของ โรงเรียนในแต่ละบริบทพื้นที่ รวมถึงสภาพแวดล้อมและสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน ส่งผลต่อการ เข้าถึงการศึกษายิ่งท้าให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายตั้งเป้าหมาย Thailand Zero Dropout เด็กและเยาวชนทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษา “รัฐบาลมุ่งมั่นให้เด็กทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษา ตั้งเป้าหมาย Zero Dropout แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาการเรียนที่ยืดหยุ่นให้ตรงความต้องการ เน้นทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต  ใครที่หลุดจากระบบจะให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา” ซึ่ง รัฐธรรมนูญมาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

          ดร.บรรเจิด กล่าวเพิ่มเติม ว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยวิธีการ การจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ หมายถึง การจัดการการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและ ผสมผสานทั้งการศึกษา ในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างไร้รอยต่อ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ห้องเรียนสร้างโอกาสสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หมายถึงห้องเรียนที่สถานศึกษามุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น บูรณาการ ไร้รอยต่อและสอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและสภาพปัญหาของผู้เรียนแต่ละบุคคลตามศักยภาพ 

          โดยนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือนักเรียนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาและโรงเรียนได้ ติดตามให้กลับมาเรียน หรือนักเรียนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการออกกลางคันสูง ตามสภาพปัญหาและสาเหตุต่างๆ ที่มีความประสงค์จะเข้าเรียนในห้องเรียนสร้างโอกาส และเด็กกลุ่มตกหล่น ซึ่งการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น คือ การศึกษาที่มีรูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา โครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาวิธีการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของ บุคคลแต่ละกลุ่มและมีอิสระสามารถเลือกเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตามความ สนใจ ความพร้อม ศักยภาพ และ โอกาส ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาที่ไร้รอยต่อ ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษา นอกระบบและการศึกษา และตามอัธยาศัย

           ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรอันตราย 3 เรื่อง เป็น แรงงานรายได้ต่ำ มีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ การค้าประเวณีโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง และยุวอาชญากรที่ ตกอยู่ในวังวนยาเสพติดและลักขโมย เพราะฉะนั้นหลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กปฐมวัย วัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงวัย มีโอกาสในการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้แต่ละบุคคล ได้พัฒนาตามความพร้อมและความสามารถให้บรรลุขีดสูงสุด มีความรู้ ทักษะ และ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ในการดำรงชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม รวมทั้งมีสมรรถนะในการทำงาน เพื่อการประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันจะนำไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ จึงต้องกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาที่ครอบคลุม

         โดยไม่ปล่อยปละละเลยหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) และหลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education)  เป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนกลุ่มปกติ กลุ่มด้อยโอกาสที่มีความยากลำบากและขาดโอกาส เนื่องด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจและภูมิสังคม ซึ่งรัฐต้องดูแลจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา สนับสนุนผู้เรียนกลุ่มนี้ ให้ได้รับการศึกษาตามศักยภาพและความพร้อมอย่างเท่าเทียม กลุ่มที่มีความ ต้องการเป็นพิเศษ ซึ่งหมายรวมกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม อารมณ์ การสื่อสารและการเรียนรู้หรือร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ รวมทั้งบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มี ผู้ดูแล รัฐต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาร่วมกับเด็กปกติในกรณีที่สามารถเรียนได้ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ความคิด และปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นในสังคม หรือจัดให้เป็นพิเศษตามระดับความบกพร่อง 

         นอกจากนี้ บุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษรัฐต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น ด้วยเหตุผลสำคัญคือบุคคลที่มีความสามารถพิเศษเป็น ทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ หากจัดการศึกษารูปแบบปกติอาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาบุคคลดังกล่าวให้มีความรู้ความสามารถตามศักยภาพของเขาได้ รัฐจึงมีหน้าที่ลงทุนพิเศษสำหรับบุคคลเหล่านี้ และถือเป็นสิทธิของบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษที่จะได้รับบริการทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาศักยภาพของตน แผนการศึกษาแห่งชาติจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมการดูแลและพัฒนา บุคคลทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/3427104/

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก