เกร็ดความรู้ : การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทำร้ายไต
“ไต” อวัยวะรูปเม็ดถั่ว ทำหน้าที่สำคัญในการขับของเสียออกจากร่างกาย รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ทั้งยังผลิตฮอร์โมนหลายชนิด โดยจะทำงานควบคู่กับระบบอื่น ๆ ของร่างกาย ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบร่างกายโดยรวม และหากพูดถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับ “ไต” หลายคนคงจะคิดว่าเกิดจากการที่รับประทานเค็มมากเกินไป แต่ในความจริงนั้น “โรคไต” สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุที่คุณอาจมองข้ามไปและทำร้ายไตไปโดยไม่รู้ตัว
การรับประทานอาหารโซเดียมสูง เป็นที่ทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารเค็มทำให้เป็นโรคไต แต่ทราบหรือไม่ว่ารสชาติเค็มเกิดจากปริมาณโซเดียมที่สูง ซึ่งมักอยู่ในรูปโซเดียมคลอไรด์ สรุปได้ว่าการรับประทานเค็มแล้วทำให้ไตวายนั้นเกิดจากเกลือแร่ที่ชื่อว่า โซเดียม แต่ไม่ใช่อาหารทุกชนิดที่มีโซเดียมสูงจะมีรสเค็ม จึงทำให้เราบริโภคเข้าไปโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคไต โดยโซเดียมสูงที่เรารับเข้าไปในแต่ละวันที่มีผลต่อไตนั้น ยังเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคเส้นเลือดสมองตีบ, โรคเส้นเลือดสมองแตก และอื่น ๆ อีกมากมาย จากข้อมูลที่กล่าวมาเราจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงได้แก่
ลดหรืองดการใส่เครื่องปรุงรส เช่น เกลือ, น้ำปลา, ซีอิ๋วขาว, ซอสต่าง ๆเช่น ซอสพริกซอสมะเขือ, กะปิ ปลาร้า, น้ำจิ้มต่าง ๆ
หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก, กุนเชียง, ลูกชิ้น, แฮม
หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง
อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, โจ๊ก
ศึกษาฉลากกำกับอาหารเพื่อดูปริมาณของโซเดียมที่ระบุไว้เป็นประจำ
ดื่มน้ำน้อย ในภาวะปกติควรดื่นน้ำประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน การทานน้ำที่ไม่เพียงพอสังเกตได้จากการสีปัสสาวะที่เข้มขึ้น จะทำให้ร่างกายขาดน้ำและไตทำงานหนักขึ้น จึงเกิดภาวะไตวายได้ นอกจากนี้การทานน้ำน้อยยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
น้ำหนักเกิน น้ำหนักตัวที่มากขึ้นทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ไตเสื่อม
ซื้อยารับประทานเอง การซื้อยารับประทานเองทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ยาบางชนิดมีผลทำให้ไตวายได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนทานยาทุกครั้ง
สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่ทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น