“การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ : เรื่องจริงหรือความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ตอนที่ 2”
จากผลการดำเนินงานโครงการนำร่องเพื่อการเสริมสร้างการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการในสังคมไทย ในสามจังหวัดคือ นนทบุรี นครปฐม และชลบุรี ในระยะเวลา 10 เดือน จากผู้เข้าร่วมโครงการร้อยละ67 สามารถเข้าร่วมโครงการครบทั้งหมด ตั้งแต่การให้คำปรึกษาเบื้องต้น การวางแผนและจัดทำโปรแกรมการดำรงชีวิตอิสระ และสามารถเปลี่ยนความคิดจากเดิมที่เคยเห็นว่า ตนเป็นบุคคลไร้สมรรถภาพ เป็นการเห็นคุณค่าของตนเองและคิดว่าชีวิตนี้มีความหวังเกิดพลังในการดำรงชีวิตต่อไป ดังเช่นคนพิการที่เข้าร่วมโครงการได้กล่าวไว้ดังนี้
“เมื่อก่อนคิดแต่จะฆ่าตัวตายอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ไม่คิดแล้ว เพราะสามารถเอาชนะใจตัวเอง เพราะเราได้เรียนวิชาที่เรารัก อยากทำให้ชีวิตดีขึ้นและอยากให้คนพิการอื่นมีโอกาสเช่นเดียวกับเรา”
“ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามีชีวิตเหมือนคนทั่วไป พึงพอใจสิ่งที่เราเป็น ตื่นเช้ามีกิจกรรมทำ ไม่ใช่รอความช่วยเหลืออย่างเดียว ซึ่งได้รับบ้างไม่ได้รับบ้าง บางคนอาจคิดแค่อยู่ช่วยตัวเองอยู่ที่บ้านก็พอ หรือบางคนอาจคิดว่ามีงานทำ แต่ผมมีโอกาสได้ช่วยคนพิการคนอื่นให้ลุกขึ้นมาเหมือนที่ผมเป็น ผมก็มีความสุขแล้ว แม้ผมจะไม่ร่ำรวยเหมือนคนอื่น”
การดำรงชีวิตอิสระในบริบทสังคมไทย: เรื่องจริงหรือความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ฉะนั้นการดำรงชีวิตอิสระจึงไม่ใช่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ อีกต่อไป เป็นเรื่องจริงที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้เพื่อให้คนพิการสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีความสุข หลุดพ้นจากความท้อแท้สิ้นหวัง และมีความเป็นไปได้จนเป็นประจักษ์ในสังคมไทย ผู้เขียนจึงขอนำเสนอคนพิการที่สามารถดำรงชีวิตอิสระได้สำเร็จดังนี้
คุณฟ้าใส เป็นชายไทยอายุ 39 ปี ร่างเล็ก ผอม แขนและขาลีบจากการที่ไม่ได้ใช้งานมานานกว่า 20 ปี นอนบนเตียงผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ครบครัน รวมทั้งคอมพิวเตอร์คู่ใจที่อยู่ข้างกาย โดยใช้คางเลื่อนเม้าส์ไปมาอย่างคล่องแคล่วว่องไว ด้วยสีหน้าแววตาที่สดชื่นแจ่มใสต้อนรับผุ้มาเยี่ยม แม้ร่างกายพิการตั้งแต่ใต้หัวไหล่ลงไปถึงปลายเท้า (C4 fracture) จากอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันตั้งแต่ยังเรียนอยุ่ชั้น ม.3 ในปีพ.ศ. 2529 รักษาที่ รพ.ราชวิถี แล้วกลับมาอยู่บ้านถึง 16 ปีเต็ม ระยะแรกรู้สึกอายไม่ยอมพบปะผู้คน และเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ แล้วเขาต้องนอนจมอยู่กับความพิการที่ว่า ไร้ความสามารถมานานกว่า 17 ปี จนในที่สุดในปี พ.ศ.2546 โอกาสนั้นก็มาถึง ญาติได้พบเพื่อนพิการที่ร้านแว่นตาและชักชวนให้ไปอบรมการดำรงชีวิตอิสระที่ศูนย์ฯ ตอนแรกตนเองไม่ได้ตั้งใจ เขาตื้อมาก ๆ และด้วยความอยากมีเพื่อนที่พิการเหมือนกัน จึงทดลองไปดูว่าเป็นอย่างไร ในระหว่างเข้าอบรมมีการพูดคุยกันกับคนพิการด้วยเอง (Peer Counseling) ก็รู้สึกว่าเราและเขาเข้าใจกันได้ง่าย มีการฝึกทักษะในการดำรงชีวิตและในที่สุดด้วยศักยภาพที่มีอยู่ประกอบกับโอกาสที่ไขว้คว้าได้ เขาจึงได้ทำงานเป็นคณะทำงานในศูนย์การดำรงชีวิตอิสระฯ ได้ช่วยให้คนพิการอื่นลุกขึ้นจำนวนมาก จนทำให้เกิดความภูมิใจและเห็นคุณค่าของตนเอง ในปัจจุบันเขาเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีอิสระทางความคิด พูดจาฉะฉาน ตัดสินใจด้วยตนเอง มองเห็นคุณค่าในตนเอง แม้จะมีความพิการรุนแรงมากแต่มีผู้ช่วยเหลือส่วนตัวที่คอนอำนวยความสะดวกให้ ปัจจุบันมีบทบาทเป็นเลขาธิการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระฯ สามารถทำงานลงพื้นที่เป็นวิทยากรและทำงานช่วยเหลือคนพิการ
คุณรินธาร: เรียนรู้และยอมรับความพิการด้วยจิตที่มุ่งมั่น หญิงไทยอายุ 37 ปี รูปร่างสมส่วน หน้าตาสวย พิการทั้งแขน ขา และลำตัวทั้งสองข้าง (C5 fracture) จากอุบัติเหตุรถชนที่จันทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 พร้อมกับลูกเล็ก ๆ ที่เพิ่งเกิดมาทำให้เป็นภาระเลี้ยงดูของพ่อแม่ตลอดมา จนบางครั้งอยากฆ่าตัวตายแต่ทำไม่ได้ด้วยความพิการรุนแรงของตนเองนานกว่า 10 ปี ไม่สามารถแม้จะหยิบยามากินเพื่อให้ตาย ต่อมาได้ย้ายบ้านมาอยู่กับพี่สาวจึงมีโอกาสทำประวัติคนพิการผ่านรายการวิทยุ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี จากตรงนี้นี่เองจึงเป็นโอกาสให้คุณรินธารเข้าร่วมโครงการนำร่องของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการใน 3 จังหวัด ที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตให้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ การให้คำปรึกษาฉันท์เพื่อน ได้รับข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับคนพิการและการพิทักษ์สิทธิคนพิการ ที่สุดเธอก็ประสบความสำเร็จในการฝึกอบรม และได้พบคนพิการต้นแบบ ได้เรียนรู้และยอมรับความพิการของตนเอง จนสามารถฝึกมือให้สามารถพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้ทั้ง ๆ ที่มือยังอ่อนแรง แต่เธอก็สามารถใช้รถเข็นไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง จนสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ และเธอเป็นหนึ่งในคณะทำงานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระฯ เธอสามารถให้คำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำ ได้ว่า ถ้ามีคนพิการผ่านมาในชีวิตเธอเชื่อมั่นว่า เธอจะพยายามทำให้เขาลุกขึ้นมาเช่นเดียวกับเธอที่ได้รับโอกาสนั้น ปัจจุบันเธอมีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถรับผิดชอบชีวิตคนเองได้บางส่วนโดยมีบุตรเป็นผู้ช่วยเหลือส่วนตัวบางห้วงเวลา สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ มองเห็นคุณค่าตนเองปัจจุบันอาศัยอยู่กับครอบครัว มีพี่สาวพี่เขยที่เปิดโอกาสให้มีอิสระทางความคิดและการทำงาน
สรุปได้ว่า เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำรงชีวิตอิสระเป็นเรื่องจริงที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ อีกต่อไป เพื่อให้คนพิการสามารถหลุดพ้นจากความท้อแท้สิ้นหวัง นับเป็นบทเรียนที่ควรนำมาทบทวนถึงกระบวนการดูแลผู้ป่วยทั้งที่มีความพิการและก่อนที่จะก้าวไปสู่ความพิการ หากแนวคิดนี้สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เชื้อได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้น่าจะได้เห็นภาพคนพิการหรือผู้ป่วยเหล่านี้สามารถลุกขึ้นมาอยู่ในสังคมเฉกเช่นคนทั่วไปได้อย่างมีความสุข ทั้งที่ความพิการมิได้เลือนหายไป