ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดไทยทั้งประเทศ”

คุณเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

         คุณเอกกมลกล่าวว่า สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งในนามของสมาคมคนตาบอดกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2510 ทั้งนี้เกิดขึ้นจากคำปรารภของมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้ใช้โรงเรียนสอนคนตาบอดเป็นสถานที่ติดต่อชั่วคราว
         ทางสมาคมฯ มีการฝึกอาชีพ เช่น อาชีพเกษตรกรรม อาชีพนวด นักเขียน คหกรรม และมีงานเกี่ยวกับการพิทักษ์สิทธิให้คนตาบอด ผู้นำขององค์กรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ในการออกกฎหมาย พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพ พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 การแก้ไข พรบ.ลิขสิทธิ์สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และทางมูลนิธิคนตาบอดไทย ช่วยให้คนตาบอดเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการผลิตหนังสือเสียงเผยแพร่ทาง 1414 แอปพลิเคชั่น TabToRead ( Application Tab To Read) หรือ www.tab2read.com
         ในช่วงสถานการณ์โควิด - ๑๙ มีการปิดร้านนวด ส่งผลให้ไม่มีใครมาใช้บริการ แต่เมื่อเริ่มเปิดให้บริการก็ยังไม่ค่อยมีใครมาใช้บริการทำให้คนตาบอดจำนวนมากได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับ อาชีพนักร้องนักดนตรี ส่งผลให้การออกไปประกอบอาชีพได้ยากลำบากขึ้น ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงพยายามส่งเสริมให้คนตาบอดประกอบอาชีพได้หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ จะได้ไม่อ่อนไหวกับสถานการณ์หรือนโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบให้การประกอบอาชีพของคนตาบอด โดยเฉพาะถ้าคนตาบอดเข้าสู่อาชีพในกระแสหลักได้มากขึ้น คือ อาชีพในมาตรา 33 หรือ 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 หรือการทำงานกับบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพราะคนตาบอดมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ถ้าการศึกษาเปิดกว้างมากขึ้นคนตาบอดสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ถนัดได้มากขึ้นทำให้สามารถตอบโจทย์ให้กับสถานประกอบการที่ต้องการจ้างงานคนตาบอดมากขึ้น หรือสถานประกอบการเข้ามาติดต่อกับทางสมาคมฯ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางในการทำงานหรือขอรับการสนับสนุนเพื่อให้งานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยองค์กรได้อย่างแท้จริงและมีประโยชน์ และได้สวัสดิการในการเลื่อนขั้นต่อไป คนตาบอดสามารถมีทางเลือกที่หลากหลายในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น
         ในอนาคต ทางสมาคมฯ มุ่งไปเรื่องของวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) มากขึ้น โดยสมาคมฯ มีส่วนในการผลักดัน เช่น เรื่องนวด เรื่องเกษตรตอนนี้มีศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรที่กาฬสินธุ์ ผลักดันให้คนตาบอดเป็นผู้ปลูกพืชผักสวนครัว แล้วนำส่งมาที่โรงคัดแยกของสมาคมฯ ผู้ที่คัดแยกนำส่งจำหน่ายตามสถานที่ต่าง ๆ รายได้ที่เข้ามาในสมาคมฯ นำรายได้กลับไปอบรมอาชีพให้คนตาบอดรุ่นต่อ ๆ ไป หรือกลับคืนสู่สมาชิก และโครงการปักษ์จิตปักใจ คือการปักผ้าซาจิโกะ โดยอบรมให้คนตาบอดที่อยู่ทางภาคเหนือทำการปักผ้า เมื่อปักเสร็จแล้วมาทำการตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มีรายได้นำกลับไปให้คนตาบอดกลุ่มต่อ ๆ ไป
         การจ้างงานคนตาบอดในมาตรา 33 พยายามผลักดันให้คนตาบอดหรือคนพิการที่จบการศึกษาได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แต่ปัญหาของมาตรา 33 คือ บางครั้งภาคเอกชนอยากใช้มาตรา 35 เพราะมาตรา 33 ต้องมีสวัสดิการ ในมาตรา 35 เป็นทางเลือกหนึ่ง สิ่งที่อยากเรียกร้องกับทางภาครัฐ ในปัจจุบันมีการจ้างคนพิการแค่ หกพันกว่าราย ซึ่งยังขาดอีก แปดพันกว่าราย ซึ่งอยากให้จ้างในมาตรา 33 หรือ 35 แต่ภาคเอกชนถ้าไม่จ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 แต่ภาครัฐไม่มีการบังคับ ในส่วนของคนตาบอด มาตรา 35 มีจำนวนหนึ่งได้รับผลประโยชน์ ซึ่งประกอบอาชีพอิสระ เช่น หมอนวดตาบอดสามารถจ้างไปทำงานในบริษัท หรือจัดอบรมภายใต้มาตรา 35 รวมถึงอาชีพเกษตรกรรมด้วย
         คุณเอกกมลทิ้งท้ายว่า “อยากฝากถึงทางกระทรวงคมนาคม การทำถนน ทางเท้าต่าง ๆ  เอื้อให้กับคนพิการทุกประเภท โดยเฉพาะคนพิการทางร่างกายที่ต้องใช้รถวีลแชร์ สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น นั้นหมายถึงประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้สามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคม มาเรียนหนังสือ มาทำงาน ได้มากขึ้น”

... สามารถติดตามรับฟังได้ ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz หรือ www.moeradiothai.net

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz

ภาพประกอบรายการวิทยุรวมใจเป็นหนึ่ง

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก