“วราวุธ” เปิดสัมมนา วิชาการระดับชาติ ย้ำปัญญาประดิษฐ์ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง คาร์บอนเครดิต ช่วยลดผลกระทบต่อสังคม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “พลิกโฉมธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยปัญญาประดิษฐ์และการจัดการคาร์บอนเครดิตสู่อนาคตที่ยั่งยืน” เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 65 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวต้อนรับ และว่าที่ร้อยตรี สานนท์ บุญมี ประธานคณะกรรมการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติฯ กล่าวรายงาน โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมผู้บริการกระทรวง พม. ศาสตราจารย์ ดร. ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหาร มจพ. และผู้แทนภาคีเครือข่าย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจเอกชน และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณทาง มจพ. ที่ให้เกียรติเชิญมาปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวันนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจหรือการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งวันนี้ที่กระทรวง พม. มาร่วมงาน เราคิดว่ามาเติมเต็มในอีกมิติหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการที่เศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้า แต่เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ เช่น Climate change พี่น้องกลุ่มเปราะบางที่กระทรวง พม. ดูแลอยู่ ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือเด็กเล็กนั้น จะได้รับผลกระทบอย่างไร และทิศทางที่ธุรกิจหรือเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจากนี้ไป ทั่วโลกไม่ได้จับตาดูเพียงแค่กำไรหรือขาดทุน แต่มิติที่ว่าบริษัทหรือองค์กรหนึ่งนั้น ดูแลคนและมีผลกระทบกับสังคมในภาพรวมอย่างไร วันนี้ตนเองมองว่า กระทรวง พม. นั้น มีโอกาสได้นำเสนอให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้เห็นว่า การทำธุรกิจจากนี้ นอกจากเรื่อง Climate change และคาร์บอนเครดิตแล้ว มิติเรื่องการดูแลคนที่จะได้รับผลกระทบ นั้น ควรจะต้องมีการแก้ไข หรือต้องมีการปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ปัจจัยเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ภาคเอกชนนั้นหันมาสนใจการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ และทำให้โอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดในประเทศไทยขณะนี้ ลดน้อยลงไปตามลำดับ และจะทำให้ภารกิจของกระทรวง พม. ง่ายขึ้น
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษา ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้ศักยภาพซึ่งกันและกัน มหาวิทยาลัย อย่างเช่นที่ มจพ. มีการวิจัยและพัฒนาทั้งเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุนการดูแลพี่น้องคนพิการ สนับสนุนพี่น้องสูงอายุ ซึ่งกระทรวง พม. นั้น หัวใจสำคัญคือเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ เราต้องอาศัยองค์ความรู้ เราต้องอาศัยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการศึกษา ซึ่งคิดว่าวันนี้การที่เราได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสัมมนาครั้งนี้ ถือว่าเป็นเครื่องยืนยันว่าจากนี้ไป การทำงานของทาง มจพ. จะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นกับทางกระทรวง พม. ซึ่งตนได้มอบให้ทางอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวว่า จากสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ที่น้อยลง และจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น อีกไม่เกิน 10 ปีจากนี้ไป ประเทศไทยของเราจะหาแรงงานหรือคนทำงานมาจากไหน ดังนั้นกลุ่มพี่น้องผู้สูงอายุ และพี่น้องคนพิการ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่นที่ มจพ. ได้คิดค้นมาหลายสิ่งหลายอย่างนั้น จะช่วยทำให้ลดช่องว่างระหว่างความพิการและไม่พิการลง และเราสามารถดึงเอาศักยภาพของคนทุกกลุ่มมาใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องสูงอายุในวันนี้ นับวันยิ่งจะมีความแข็งแรงทั้งกายและใจ ต่างกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้น การดึงเอาพี่น้องกลุ่มเปราะบางเข้ามา เพราะยังมีศักยภาพ ยังมีความสามารถอีกมาก
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับทิศทางการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีการ Focus 4 ประเด็นหลัก เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่ 1 ประเทศไทยเรามีอะไร คือ "หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานชุมชน ด้วยความสมดุลของมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ประเด็นที่ 2 เราทำอะไรมาแล้วบ้าง เราจำเป็นต้องทำธุรกิจตามหลัก ESG ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ BCG Model เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ประเด็นที่ 3 สิ่งที่เราจะต้องก้าวข้าม ไม่ว่าจะเป็น 1) ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ เป็นด่านแรกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตนี้ 2) สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มคนเปราะบาง และ 3) วิกฤตประชากรประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ Aged Society วิกฤตเด็กเกิดน้อย และมีผลิตภาพที่ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกทั้งสถานการณ์ "แก่ก่อนรวย" และคนวัยทำงานจะต้องกลายเป็น "เดอะแบก" เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน
นายวราวุธ กล่าวว่า และประเด็นที่ 4 ก้าวต่อไป จากนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ของ กระทรวง พม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ พัฒนานโยบายดังกล่าว ผ่านมติความเห็นชอบของ ครม. เมื่อ 2 เมษายน 2567 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพ และผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4) เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำ มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายในปี พ.ศ. 2570 อาทิ การสนับสนุนทางการแพทย์ หุ่นยนต์ในการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ